19 สิงหาคม 2555

Bitcoin: Virtual Currency

เงินเป็นตัวแทนในการทำธุรกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า และในปัจจุบันเงินมีอยู่หลายสกุล ไม่ว่าจะเป็น บาท ดอลล่าร์สหรัฐ ยูโร เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีหน่วยงานของรัฐในแต่ละประเทศเป็นผู้รับรองควบคุมและจัดการ เช่นบาทไทยโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ดอลล่าร์สหรัฐโดยธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve System) หรืออาจจะเป็นหน่วยงานอิสระเป็นผู้ควบคุมเช่น เงินสกุลยูโร โดยธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) เงินในสกุลต่างๆเหล่านี้สามารถแลกเปลี่ยนไปมาระหว่างสกุลได้
ในยุคไซเบอร์ได้เกิดสกุลเงินที่มีใช้งานเฉพาะบนอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเงินในเกมออนไลน์ ต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็น Virtual Economy ที่ใหญ่ที่สุดซึ่งก็มีสกุลเงินของตัวเอง หรือจะเป็นในโลกเสมือนอย่าง Second Life ที่มีสกุลเงินตัวเองที่เรียกว่า Linden Dollars ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนกับเงินสกุลที่ใช้ในโลกจริงจากบางเว็บไซต์ เงินเหล่านี้ก็มีผู้ควบคุมในแต่ละแห่งกำหนดกฏเกณฑ์โดยผู้ให้บริการ
อย่างไรก็ตามยังมีเงินเสมือนสกุลหนึ่งที่แปลกไม่เหมือนใครซึ่งไม่มีหน่วยงานกลางในการควบคุม แม้ว่าจะมีผู้ที่ให้กำเนิดเงินสกุลนี้ก็ตาม แต่ก็ปล่อยการควบคุมมูลค่าและการใช้เงินโดยผู้ใช้ด้วยกันเอง (Peer-to-Peer) เงินสกุลนี้ก็คือ Bitcoin

Bitcoin คืออะไร

Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิทัลเกิดขึ้นในปี 2009 จากการเสนอบทความของ Satoshi Nakamoto (เพิ่มเติม 2 พฤษภาคม 2016: ต่อมา Craig Wright ออกมาอ้างผ่านทาง BBC, Economist และ GQ ว่าคือตน โดยมีหลักฐานคือ Private Key ของ Bitcoin Block ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีการโอน โดยเชื่อกันว่าเป็นของ Satoshi Nakamoto อ่านได้ที่ http://www.bbc.com/news/technology-36168863) โดยมีหลักการว่าในการเปลี่ยนมือของเงินนั้นจะมีการทำ Digital Sign กำกับในทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นและมีการยืนยันโดยบุคคลอื่นที่อยู่ในเครือข่ายณ.ขณะนั้น (Peer) ซึ่งในความเป็นจริงก็คือคอมพิวเตอร์อื่นในเครือข่ายที่ใช้งานโปรแกรม Bitcoin อยู่ในขณะนั้น ซึ่งทำให้ Bitcoin แตกต่างจากเงินสกุลอื่นทุกสกุลเพราะตัดการควบคุมของหน่วยงานกลางออกไป อยู่ได้โดยอาศัยการเชื่อใจกันของชุมชนผู้ใช้งาน และในชุมชนนั้นก็ประกอบด้วยผู้ใช้ ร้านค้า ศูนย์รับแลกเปลี่ยนเงินตรากับเงินสกุลที่ใช้ในโลกจริง

Bitcoin ทำงานอย่างไร

การใช้งาน Bitcoin เริ่มต้นจากการสร้างกระเป๋าเงิน หรือ Wallet ซึ่งเก็บอยู่บนคอมพิวเตอร์โดย Bitcoin ซอฟต์แวร์ (ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.weusecoins.com) หรือเก็บไว้ที่ผู้บริการฝากกระเป๋าเงินซึ่งอยู่บนอินเทอร์เน็ตเช่น MyBitcoin (https://www.myBitcoin.com) Wallet แต่ละใบจะมีที่อยู่ที่ไม่ซ้ำกัน ที่อยู่ได้มาจาก Public Key ของคู่กุญแจที่สร้างจากรหัสแบบกุญแจสาธารณะ (Public-Key Cryptography) โดย Private Key ของคู่กุญแจนั้นใช้เพื่อยืนยันการทำธุรกรรม
Wallet จะเก็บยอดเงินคงเหลือ ประวัติการทำธุรกรรม และที่อยู่ของผู้ที่ทำธุรกรรมด้วย แต่จะไม่มีข้อมูลของผู้ใช้เลยว่าเป็นใคร ซึ่งทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ทำธุรกรรมได้คล้ายกับการใช้ธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ทำการซื้อขายสินค้าหรือเปลี่ยนมือผู้ถือเงิน
การทำธุรกรรมของ Bitcoin ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายหรือโอนเงินมีลักษณะเดียวกัน คือเมื่อผู้ส่งจะทำการส่งเงินของตน จะกำหนดมูลค่า Bitcoin ที่จะทำการส่งและต่อท้ายด้วยที่อยู่ของผู้รับ (ซึ่งก็คือ Public Key ของผู้รับ) หลังจากนั้นโปรแกรมทำการ Hash ข้อมูลเป็นการทำ Digital Signature จากนั้นข้อมูลการทำธุรกรรมนี้จะถูกกระจายไปบนเครือข่าย คอมพิวเตอร์ในเครือข่ายจะทำการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง เมื่อผู้รับได้รับก็จะใช้ Private Key ของตนจับทำการ Sign เพื่อยืนยันการรับเข้า Wallet
ข้อมูลและวิธีการทำธุรกรรมของ Bitcoin
เครื่องคอมพิวเตอร์อื่นที่อยู่ในเครือข่ายนอกจากจะช่วยยืนยันการทำธุรกรรมแล้ว ยังช่วยป้องกันการจ่ายเงินของผู้ส่งก้อนเดียวกันไปยังผู้รับมากกว่าหนึ่งราย (Double-Spending) ซึ่งเป็นปัญหาของเงินดิจิทัลโดยส่วนใหญ่อีกด้วย ในระบบการตรวจสอบแบบนี้จะตรงกันข้ามกับการทำธุรกรรมผ่านระบบที่มีผู้ควบคุมเช่นธนาคาร ซึ่งเน้นการปกปิดรายการธุรกรรมแต่ไม่ได้ปกปิดตัวตนของผู้ทำธุรกรรม แต่ Bitcoin เปิดเผยการทำธุรกรรมแต่ปกปิดตัวตนของผู้ทำธุรกรรม
ความเป็นส่วนตัวของ Bitcoin เทียบกับการทำธุรกรรมทั่วไป

เงินใน Bitcoin มาจากไหน

เงินใน Bitcoin ถูกสร้างโดยการคำนวณทางคณิตศาสตร์เพื่อหา Block ของ Bitcoin ที่จะนำไปใช้ได้ คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องที่ลงโปรแกรมเพื่อค้นหา Bitcoin Block ซึ่งเรียกว่า Miner จะต้องทำการแก้ปัญหาเพื่อหา Bitcoin Block ที่สามารถใช้ได้ด้วยวิธี Trial and Error (ลองผิดลองถูก) ซึ่งเรียกกันว่าการ Mining (เลียนแบบการขุดหาทอง) ในเครือข่ายที่ทำการค้นหาจะถูกกำหนดว่าทุกๆ 2 สัปดาห์จะมี Bitcoin Block ใหม่ได้เพียง 2,016 Block และเมื่อหมด2 สัปดาห์โปรโตคอลในเครือข่ายจะเปลี่ยน Parameter เพื่อทำให้การคำนวณยากยิ่งขึ้น ซึ่งใช้เทคนิคที่เรียกว่า Poisson Process ทำให้ความยากในการคำนวณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแบบ Exponential
ในแต่ละ Block ที่ได้มานั้นจะมีมูลค่าไม่เท่ากัน โดย 210,000 Block แรกจะมีมูลค่ามากที่สุดคือ 50 Bitcoin อีก 210,000 Block ถัดไปจะมีมูลค่า 25 Bitcoin และทุกๆ 210,000 Block จะมีมูลค่าลดลงครึ่งหนึ่ง นั่นหมายความว่ามูลค่ารวมทั้งหมดของ Bitcoin จะไม่เกิน 21 ล้าน
การที่มูลค่ารวมของ Bitcoin มีจำกัด ในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้วจึงสามารถใช้เป็นตัวแทนในการซื้อขายได้เหมือนกับเงินจริงสกุลต่างๆ ที่ต้องอิงกับทองคำสำรองของแต่ละประเทศหรือกลุ่มประเทศ
แม้ว่าเราสามารถหา Bitcoin Blockได้ด้วยตัวเองก็จริง แต่การหา Bitcoin Block เป็นการลงทุนทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่สูงและผู้ที่ขุดหาโดยมากทำเป็นธุรกิจ ผู้ใช้ Bitcoin โดยทั่วไปจึงไม่ได้ขุดหา Bitcoin Block เองแต่จะแลกเปลี่ยนจากผู้ค้า Bitcoin

การแลกเปลี่ยน Bitcoin กับสกุลเงินจริง

การแลกเปลี่ยนเงิน Bitcoin กับสกุลเงินจริงสามารถทำได้ที่ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินในแต่ละท้องถิ่น ในประเทศไทยมีอยู่ในแถบกรุงเทพและปริมณฑล 3 ราย และที่เชียงใหม่ 1 ราย รายชื่อผู้ให้บริการสามารถตรวจสอบได้จาก http://www.tradeBitcoin.com
แม้ว่าจะมีผู้ให้บริการแต่ละท้องที่ก็ตาม ส่วนใหญ่ผู้ที่ต้องการแลกเปลี่ยน Bitcoin กับเงินจริงเป็นปริมาณมากจะไปที่ผู้ให้บริการอย่างเช่น Mt. Gox (https://www.mtgox.com) Bitcoin Market (https://www.Bitcoinmarket.com) หรือ TradeHill (https://www.tradehill.com) ราคาซื้อขายเฉลี่ย ณ.วันที่ 1 กรกฎาคม 2011 อยู่ที่ 16 $US ต่อ 1 Bitcoin ส่วนราคาซื้อขายประจำวันสามารถดูได้จาก http://Bitcoincharts.com/

Bitcoin ใช้ได้ที่ใดบ้าง

สินค้าและบริการที่สามารถใช้ Bitcoin ซื้อได้ในปัจจุบันมีหลายหมวดหมู่ แม้ว่าส่วนใหญ่จะยังเป็นสินค้าและบริการบนอินเทอร์เน็ตก็ตาม ตัวอย่างเช่น

  • บริการเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตได้แก่ Web Hosting, VoIP, Web Design, Security Tesing และอีกหลายบริการ
  • บริการออนไลน์เช่น เกม บริการบน Cloud บริการแชร์ไฟล์ ซื้อเพลง หรือภาพยนตร์
  • สินค้าทั่วไปเช่น สินค้าเกี่ยวกับบ้าน สินค้าอิเลคทรอนิคส์ ขนม หนังสือ เป็นต้น
สำหรับรายชื่อผู้ให้บริการสินค้าและบริการสามารถดูได้จาก https://en.Bitcoin.it/wiki/Trade

จะเปิดร้านค้าที่รับ Bitcoin ทำได้อย่างไร

ในกรณีที่เราอยากขายสินค้าหรือบริการที่รับ Bitcoin เพียงแค่สร้าง Wallet เพื่อมารับชำระเงิน ก็สามารถทำได้ เพียงแต่เมื่อลูกค้าต้องการชำระเงิน เราต้องคอยส่ง Address ของ Wallet ของเราให้ลูกค้าแต่ละรายจากโปรแกรม Bitcoin ซึ่งไม่สะดวกนักในการทำ Online Shopping
อย่างไรก็ตามเราสามารถจะเชื่อมต่อระบบ Online Shopping ของเราเข้ากับ Bitcoin ได้ซึ่งมีการให้บริการ Shopping Cart Interface กับ Wallet จากผู้ให้บริการหลายรายเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม บริการและ Interface เหล่านี้สามารถ ดูและเลือกบริการได้จาก https://en.Bitcoin.it/wiki/Category:Shopping_Cart_Interfaces
นอกจากนี้เรายังสามารถเขียนโปรแกรมเพื่อติดต่อกับโปรแกรม Bitcoin เพื่อทำการทำธุรกรรมอัตโนมัติ โดยผ่าน JSON-RPC API ตามความต้องการเองด้วยก็ได้ซึ่งสามารถศึกษาได้จาก API Reference ที่ https://en.Bitcoin.it/wiki/API_tutorial_(JSON-RPC)

ความเสถียรของค่าเงิน

อัตราแลกเปลี่ยนของ Bitcoin เทียบกับ US Dollar ที่ Mt.Gox ในช่วงที่ Mt. Gox โดนแฮกในเดือนมิถุนายน 2011, ที่มา http://bitcoincharts.com
จุดเด่นของการที่เป็นสกุลเงินที่ไม่มีการควบคุมโดยองค์กรใด แต่ควบคุมโดยชุมชนนั้น กลับทำให้ค่าเงินของ Bitcoin เทียบกับสกุลเงินอื่นแกว่งตัวค่อนข้างสูงมาก โดยจากเดือนเมษายน 2011 มีการซื้อขายอยู่ที่ 1-2 US$ พุ่งสูงไปถึง 31 US$ ช่วงวันที่ 10-11 มิถุนายน 2011 หลังจากนั้นหล่นลงมาอยู่ที่ประมาณ 13-14 US$ ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2011 ซึ่งลักษณะการแกว่งตัวเช่นนี้พบมากกับการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์มากกว่าที่จะพบในการแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่างๆโดยทั่วไปซึ่งมีหน่วยงานของรัฐหรือกลุ่มประเทศเป็นผู้จัดการควบคุมและบริหารค่าเงิน
ดังนั้นการเข้ามาใช้ Bitcoin เพื่อทำธุรกรรมจึงต้องระมัดระวังในเรื่องการแกว่งตัวของมูลค่า Bitcoin ในตลาดให้มาก
อัตราแลกเปลี่ยนของ Bitcoin เทียบกับ US Dollar ที่ Mt.Gox ในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงสิงหาคม 2012

ความปลอดภัยในการใช้ Bitcoin

ถ้าศึกษาดูจากการทำงานของการใช้งาน Bitcoin แล้ว จะพบว่าอัลกอริทึ่มในการทำธุรกรรมนั้นอยู่ในระดับปลอดภัยมากทีเดียว แต่ว่าจุดอ่อนของ Bitcoin กลับอยู่ที่การเก็บข้อมูลของ Wallet ซึ่งอยู่บนหลากหลายระบบปฏิบัติการ ตั้งแต่ Windows, Mac OS, Linux รวมไปถึงบน Mobile Platform ซึ่งจะมีในอนาคต เพราะว่าเป็น Open Source
เช่นเดียวกับการใช้งาน Application อื่น มิจฉาชีพสามารถฉวยโอกาสใช้การส่ง Malware เพื่อคุกคาม ขโมย Wallet เช่นเดียวกันกับการส่ง Trojan เพื่อขโมยข้อมูลอื่น และเนื่องจาก Wallet เป็น Anonymous ไม่สามารถระบุเจ้าของได้ การโดนขโมย Wallet ก็เช่นเดียวกับการโดนขโมยกระเป๋าเงินที่มีเงินสดอยู่ในนั้น
อย่างไรก็ตามเราสามารถทำให้ Wallet ปลอดภัยได้โดยการทำการเข้ารหัสลับกับแฟ้มข้อมูล Wallet ของ Bitcoin โดยใช้ซอฟต์แวร์จาก Third Party เพื่อใช้เข้ารหัสลับบน Windows ส่วนบน Mac OS และ Linux สามารถทำได้เลยจากตัวระบบปฏิบัติการ รายละเอียดสามารถดูได้จาก https://en.bitcoin.it/wiki/Securing_your_wallet

ปัญหาเรื่องการใช้ Bitcoin ฟอกเงิน

Bitcoin ถูกตั้งข้อสงสัยว่าจะถูกใช้ทำการฟอกเงินโดยนักค้ายาเสพติด โดยวุฒิสมาชิก Charles Schumer จากรัฐนิวยอร์คและ Joe Manchin จากรัฐเวสต์เวอร์จิเนียเขียนจดหมายถึงสำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐ (DEA: Drug Enforcement Administration) เกี่ยวกับความกังวลเรื่องเวบไซต์ใต้ดินชื่อ Silk Road ที่ใช้ขายยาเสพติดโดยใช้ Bitcoin เป็นเงินในการซื้อขาย
การที่ Wallet ทุกใบไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ถือได้ ทำให้การทำการฟอกเงินเป็นไปได้ง่าย โดยเงินใน Bitcoin แม้ว่าสามารถติดตามที่มาของเงินจากข้อมูลธุรกรรมที่อยู่ใน Bitcoin แต่ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าใครเป็นผู้ทำธุรกรรม จึงเป็นการง่ายที่ Bitcoin จะถูกใช้เพื่อทำการฟอกเงินดังเช่นกรณีข้างต้น

บทส่งท้าย

Bitcoin เป็น Virtual Currency ที่มีแนวคิดใหม่ในการทำธุรกรรมหลายอย่างได้แก่ การที่ให้ชุมชนเป็นผู้ควบคุมกันเอง (Peer-to-Peer) การเปิดเผยการทำธุรกรรมแต่ปกปิดผู้ทำธุรกรรม การกำหนดที่มาและจำนวนเงินในระบบโดยใช้หลักการทางคณิตศาสตร์และเครือข่าย เหล่านี้ทำให้ Bitcoinเป็นที่น่าจับตามองและศึกษาแนวการนำมาใช้  อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องเสถียรภาพของค่าเงิน ความปลอดภัยในการขโมย Wallet จาก Malware ก็เป็นสิ่งที่ต้องพึงระวังและรวมถึงการถูกนำไปใช้เพื่อการฟอกเงินด้วย

อ้างอิงจาก

  • บทความวิจัยของ Satoshi Nakamoto เรื่อง Bitcoin: A Peer-to-Peer Electronic Cash System https://bitcoin.org/bitcoin.pdf
  • Bitcoin Wiki https://en.bitcoin.it/wiki/Blocks 
  • Senators seek crackdown on "Bitcoin" currency, Reuter วันที่ 8 มิถุนายน 2011 http://www.reuters.com/article/2011/06/08/us-financial-bitcoins-idUSTRE7573T320110608

3 ความคิดเห็น:

  1. ข้อดี
    [1] น่าสนใจมากครับ คงเป็นสิ่งที่ใช้ได้กับการค้าขายในระดับชุมชนบนเว็บไซด์ ได้ดี
    [2] ช่วยการเติบโตด้าน E-commerce ของกลุ่มผู้ค้าบนอินเทอร์เน็ต ที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ และขายได้ด้วยตัวเอง
    [3] รัฐบาล และสถาบันการเงินเข้าครอบงำการทำธุรกรรม ซึ่งหมายถึง จะเกิดระบบเศรษฐกิจบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่ต้องการวิเคราะห์ วิจัย อีกมาก

    ข้อควรระวัง
    [1] การฟอกเงิน อย่างที่ระบุ เหมือนเงินบนเกมส์online ที่แลกเปลี่ยน ซื้อขายด้วยเงินจริงมากขึ้น
    [2] การสร้างแรงจูงใจมากขึ้น ต่อผู้ไม่หวังดี เพื่อแย่งชิง กระเป๋าเงิน BitCoin มากขึ้น

    ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  2. ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

    ตอบลบ
  3. ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

    ตอบลบ