15 พฤศจิกายน 2560

National Digital Identity: Chapter 2 ความพยายามในการรวมโครงการที่เกี่ยวข้องมาอยู่ด้วยกัน

ก่อนที่จะเริ่มตอนที่ 2 ผมก็เลยไปขออนุญาตใช้ชื่อจริงของเพื่อนที่ผมเล่าถึงในตอนที่แล้ว เพราะว่าถ้าไม่พูดถึงจะเขียนยากมากเลย เพื่อนที่ผมพูดถึงก็คือดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล มันสมองของประเทศนี้คนหนึ่ง

จากตอนที่แล้วจบลงตรงที่ดร.อนุชิต พยายามรวบรวมโครงการต่างๆเข้ามาอยู่ด้วยกัน การเริ่มต้นการรวมโครงการเริ่มจากการที่มีการพูดคุยในที่ประชุมโครงการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร ซึ่งเจ้าภาพการจัดประชุมคือสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) ช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งมีตัวแทนของหน่วยงานราชการและองค์การมหาชนหลายหน่วยงานที่มาประชุม โดยดร.อนุชิตได้เสนอว่าควรจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ยึดติดกับเทคโนโลยีในการพิสูจน์ตัวตนใดๆ และเป็นโครงสร้างแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยคละกันไป

อย่างไรก็ตามก็ได้ตกลงกันว่าจะมีการพูดคุยเรื่องแนวทางที่จะรวมโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ตัวตน ในสัปดาห์ต่อมาที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) โดยสรุปคร่าวๆ เท่าที่ผมจำได้โครงการต่างๆ ประกอบด้วย
  • การพัฒนาระบบกลางในการยืนยันตัวตนออนไลน์ (Digital Authentication) ที่เป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร (Doing Business Portal)
  • โครงการ Cross verification ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
  • โครงการ e-Concent ของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau - NCB)
  • โครงการ eKYC ของกลุ่มตลาดทุนโดยมีคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เป็นผู้เริ่มต้น
  • โครงการอื่นๆ อีกที่คล้ายกันซึ่งผมจำชื่อไม่ได้
ในการพูดคุยครั้งนั้นก็ได้เชิญหน่วยงานที่เข้ามาร่วมนอกจาก ETDA ก็คือตัวแทนจากกระทรวงการคลัง EGA ธนาคารต่างๆ ประมาณ 7-8 แห่ง กลต. ธปท. (มีหน่วยงานอื่นอีกแต่จำได้แค่นี้) ในการประชุมกว่าจะนิยามถึงเรื่อง Identity  และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ตัวตน ของทุกคนให้ตรงกันก็ใช้เวลาไปสองสามครั้ง ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ก่อนที่จะตกลงกันที่จะใช้คำนิยามให้ตรงกัน ในวันที่ตกลงให้คำนิยามนั้นผมไม่ได้อยู่ด้วย แต่ดูเหมือนว่าจะอ้างมาจาก NIST SP 800-63 Digital Identity Guidelines (คนที่อยู่ในที่ประชุมช่วยมาแก้ให้ผมด้วยนะถ้าผิด) โดยจำแนกบทบาทที่สำคัญ ได้แก่

Relying Party (RP)
An entity that relies upon the subscriber’s authenticator(s) and credentials or a verifier’s assertion of a claimant’s identity, typically to process a transaction or grant access to information or a system.
หรือสรุปง่ายๆก็คือ ผู้ให้บริการทำธุรกรรมใดๆก็ตาม เช่น ให้กู้เงิน ขายของออนไลน์ เป็นต้น

Identity Provider (IdP)
The party that manages the subscriber’s primary authentication credentials and issues assertions derived from those credentials. This is commonly the CSP (Credential Service Provider) as discussed within this document suite.
ซึ่งก็คือผู้ให้บริการยืนยันตัวตน ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ก็เช่น Facebook หรือ Google ให้บริการยืนยันตัวตนกับเว็บไซต์อื่น แต่ในนิยามจริงๆ IdP ทำหน้าที่มากกว่านั้น

Authoritative Source (AS)
An entity that has access to, or verified copies of, accurate information from an issuing source such that a CSP (IdP) can confirm the validity of the identity evidence supplied by an applicant during identity proofing. An issuing source may also be an authoritative source. Often, authoritative sources are determined by a policy decision of the agency or CSP (IdP) before they can be used in the identity proofing validation phase.
คือผู้ที่มีข้อมูลที่เที่ยงตรงและเชื่อถือได้และพร้อมที่จะส่งให้ผู้อื่นเมื่อมีการตรวจสอบการยืนยันตัวตนของเจ้าของข้อมูลมาครบถ้วน ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ตัวอย่าง AS เช่น บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัดพร้อมที่จะส่งข้อมูลเครดิตของบุคคลเมื่อบุคคลนั้นได้ยืนยันตัวตนและยินยอมให้ส่งข้อมูลนั้น กับธนาคาร (ในที่นี้คือ RP) ที่บุคคลนั้นขอสินเชื่อ

โดยที่แต่ละหน่วยงานสามารถมีบทบาทใดบทบาทหนึ่งหรือมากกว่าก็ได้เช่น ธนาคารสามารถเป็น RP ให้บริการสินเชื่อ ในขณะเดียวกันก็เป็น IdP ให้บริการยืนยันตัวตนได้ และสามารถเป็น AS เพื่อให้ข้อมูล เช่นรายการเดินบัญชี (Bank Statement) เพื่อไปขอสินเชื่อกับธนาคารอื่น เป็นต้น

องค์ประกอบอีกชิ้นที่ไม่ได้เป็นองค์ประกอบหลัก แต่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ความน่าเชื่อถือของข้อมูลการยืนยันตัวตนสูงขึ้นก็คือ Registration Authority (RA) ยกตัวอย่างเช่นกรมการปกครอง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น

ส่วนสุดท้ายก็คือแพลตฟอร์มกลางที่จะเชื่อม หน่วยงานที่มีบทบาทต่างๆ ตามที่เขียนไว้ด้านบนนั้น ในเวลานั้นมีการตั้งชื่อว่า Universal Identity Platform ซึ่งภายหลังมาเปลี่ยนชื่อเป็น National Digital Identity Infrastructure
ความสัมพันธ์ระหว่าง Universal Identity Platform กับ RP, IdP, AS และ RA
จากนั้นดร.อนุชิต ก็พยายามที่จะให้ผู้ร่วมประชุมแสดงความคิดเกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้าง Digital Identity แต่ก็เกิดปัญหาว่าแต่ละคนไม่สามารถที่จะเริ่มต้นอธิบายเพื่อแสดงความคิดไปในแนวทางเดียวกันได้ บ้างก็มีการนำเสนอที่ลอกแบบมาจากต่างประเทศ บางคนก็มีเฉพาะ Component Diagram ผมจึงได้เริ่มเขียน Business Process  เบื้องต้น รวมทั้ง Process ที่อยากเห็นให้กับดร.อนุชิต โดยมีรายการดังนี้
  1. Identity Registration
    • Individual Identity Registration
    • Additional Authentication Provider
    • Juristic Person Identity Registration/Change
  2. Authentication
  3. Information Request
  4. Delegation
  5. De-registration
  6. Expiration
  7. Renewal
หลังจากได้นิยามที่ตรงกันจึงได้มีการแจกการบ้านให้ผู้เข้าร่วมประชุม ไปลองออกแบบกระบวนการทั้งเจ็ดเพื่อมานำเสนอในครั้งถัดไปโดยนัดประชุมที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

ขอจบบทที่ 2 ตรงนี้ก่อน

20 ตุลาคม 2560

National Digital Identity: Chapter 1 ผมมาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ได้อย่างไร

โครงการ Digital Identity ของประเทศไทย

บทความที่เขียนเกี่ยวกับ Digital Identity ที่จะเขียนต่อไปนี้ ไม่ได้เป็นข้อมูลที่เป็นทางการของโครงการแม้ว่าผมจะเป็นหนึ่งในทีมงานด้านเทคนิคก็ตาม แต่จะเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมที่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้มาเป็นระยะเวลานานส่วนการดำเนินงานของโครงการ เป็นไปในทิศทางใดอาจจะไม่ได้เหมือนอย่างที่ผมได้พูดถึงก็ได้

ขอย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยผมทำงานให้กับบริษัท IT ชั้นนำแห่งหนึ่ง ผมได้มีโอกาสไปงาน CeBIT ในเดือนมีนาคมปี 2010 ได้งานนั้นสิ่งที่ผมสนใจมากอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของ e-ID ของประเทศเยอรมันและของประเทศอื่นๆในกลุ่มยุโรป เทคโนโลยีในตอนนั้นพึ่งพาเรื่องบัตรประชาชนที่เป็นสมาร์ทการ์ดเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นอยู่ในรูปบัตรหรือเป็น USB Token เพื่อใช้ในการธุรกรรมต่างๆ ไม่แค่เพียงของรัฐ แต่ยังโยงไปถึงธุรกรรมเกี่ยวกับ ธนาคาร การเงินฯลฯ ในตอนนั้นก็กลับมาย้อนนึกว่าทำไมเราถึงไม่สามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนของเราซึ่งเป็นสมาร์ทการ์ดเช่นกันทำธุรกรรมแบบนั้นได้ แต่เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงก็ได้แต่คิดและเก็บเอาเรื่องนี้ไว้ในใจ

จนมาถึงเดือนกันยายนปี 2015 ได้ไปเที่ยวที่อัมพวากับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Security กลุ่มใหญ่ ขากลับได้ติดรถของผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่ง ได้คุยกันระหว่างทางกลับมากรุงเทพหลายเรื่อง หนึ่งในเรื่องนั้นก็มีเรื่อง e-ID ของเยอรมัน แล้วก็พูดถึงความตั้งใจที่ อยากให้เมืองไทยใช้ Digital Identity ผ่านบัตรประชาชนได้ แต่ตอนนั้นผมยังมองเรื่อง Digital Identity ค่อนข้างแคบไปหน่อย ต่อมาผู้เชี่ยวชาญท่านนั้นก็ได้ทำโครงการเรื่องนี้ Digital Identity ให้กับหน่วยงานหนึ่ง

หลังจากนั้นกระแสเรื่องของการพิสูจน์ตัวตนผ่านทางอุปกรณ์ Mobile เช่น Smartphone ก็เริ่มมาถึงวงการธนาคารในกระบวนการเช่นการทำ E-KYC (Know Your Customer) การพิสูจน์ตัวตนลูกค้า E-Consent การให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกลายเป็นว่าความต้องการหลักเป็นเรื่องเดียวกันก็คือทำอย่างไรถึงจะพิสูจน์ทราบได้ว่าผู้ที่จะมาทำธุรกรรมนั้นเป็นบุคคลตามที่กล่าวอ้างจริงๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือแค่เฉพาะในวงการธนาคารก็มีแนวคิดที่จะทำเรื่อง Digital Identity ออกไปหลายหลายรูปแบบ แต่ไม่ว่ารูปแบบไหนก็ต้องกลับมาเกี่ยวข้องกับผมซึ่งทำงานในสายงาน Information Security อยู่ดี ในรายการที่ผมต้องไปเกี่ยวข้อง หลายเรื่องนั้นก็มีวิธีการออกแบบที่ไม่ดีเลย

หมายความว่าอย่างไร ปกติในการออกแบบกระบวนการหรือวิธีการที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง information Security เหล่านี้ผมมักจะสร้างแบบจำลองสถานการณ์ที่สามารถละเมิดกระบวนการเหล่านี้แล้วทดสอบว่ามีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ (Misuse Case Scenario) ผมพบว่าคนที่พยายามออกแบบกระบวนการเหล่านั้นไม่เคยทดสอบสมมติฐานในรูปแบบการละเมิดขั้นตอนว่าเป็นไปได้หรือไม่ ทำให้ผมต้องพยายามสื่อสารออกไปให้ได้ว่าการออกแบบเหล่านั้นไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อผมเท่าไหร่

โชคดีที่ผมได้ทำงานกับเพื่อนคนหนึ่งซึ่งจบปริญญาเอกทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เข้าใจเรื่องต่างๆในวงการธนาคารเป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาโครงการระดับชาติหลายโครงการ ผมจึงเดินเข้าไปบอกว่า โครงการที่เกี่ยวข้องกับ Digital Identity ที่ทำกันอยู่ไม่มีความปลอดภัย และใช้สถาปัตยกรรมด้านไอทีที่ล้าหลังมากซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาว ซึ่งหลังจากอธิบายรายละเอียดต่างๆให้ฟังแล้วเพื่อนผมคนนี้ก็เลยคิดว่าน่าจะรวมโครงการต่างๆนั้นมาเป็นโครงการเดียว และพยายามแยกระหว่างโครงสร้างพื้นฐานของระบบ ออกจากเทคโนโลยีที่จะใช้เพื่อทำการพิสูจน์ตัวตน หลังจากนั้นก็พยายามคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเริ่มต้นรวมโครงการเหล่านี้ร่วมกัน

ทำให้ผมได้มาร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญท่านนั้น ที่ผมได้ติดรถกลับบ้านในเดือนกันยายนปี 2015

จบปฐมบทเรื่อง Digital Identity ของผม

หมายเหตุ: ผมเชื่อว่าคงจะมีคนเขียนบทความที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ในมุมมองของตัวเองออกมาอีกลองอ่านจากหลายมุมมองแล้วปะติดปะต่อกันคงจะเห็นภาพว่าโครงการนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรแล้วแต่ละคนมาทำงานร่วมกันได้อย่างไร

17 ตุลาคม 2560

WPA2 Key Reinstallation Attack (KRACK)

ช่องโหว่ WPA2 ของ Wireless LAN ทำให้ชีวิตดูเหมือนอยู่ยาก แต่อย่างไรก็ตามอาศัยความรู้อันน้อยนิด ให้ความกระจ่างได้ดังนี้
1. เนื่องจากต้องทำ Rouge Access Point in the Middle ดังนั้นถ้าบ้านคุณไม่ใหญ่จนคนมาทำ Access Point ปลอมในบ้านคุณได้ ก็ไม่ต้องวิตกกังวลอะไรนัก หรือแม้แต่ Pocket WiFi ก็ยังไม่น่ากังวล
2. คนที่ต้องกังวลคือคนที่ใช้ Wireless Access Point ในสถานที่ที่ควบคุมไม่ได้ เช่นที่ทำงาน (เวรล่ะ) วิธีแก้คือเดินไปหา Access Point แล้วนั่งทำงานใกล้ๆ ให้สัญญาณแรงๆ เข้าไว้ (ทำได้เรอะ)
แก้ไข: ไปนั่งกินเนื้อย่างคุยกับคนที่อ่าน Paper นี้ครบแล้ว สรุปว่าถ้า Attacker ตั้งใจโจมตีรายคน เอาเสาส่งแบบ Beam ไปยิงเพื่อเปลี่ยน Channel ทำ Man-In-The-Middle Rouge Access Point ได้ ดังนั้นอยู่ใกล้ Access Point ก็อาจไม่ช่วย
3. ส่วนคนที่ใช้ Public WiFi แบบไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ ไม่ได้ผลกระทบอะไรเพิ่ม ไม่ปลอดภัยยังไง ก็ไม่ปลอดภัยเท่าเดิม
ทางแก้ ก็ Update WPA2 Patch ของ Wireless LAN Adapter ที่เครื่องตัวเอง ส่วนมือถือถ้าไม่มี WiFi Patch หรือ Update ออกนอกบ้านก็ 3G/4G โลด

Update: Ubuntu ออก WPA Package Update แล้วนะ แก้ Program ชื่อ wpa_supplicant (2.4-0ubuntu6.2) อย่าลืม Update กัน

KRACK Attacks: Bypassing WPA2 against Android and Linux

07 ตุลาคม 2560

Security ใน DevOps ต่างจาก DevSecOps อย่างไร

มีคำถามเรื่อง DevSecOps ว่า Dev กับ Ops ก็มี Security อยู่แล้วไม่ใช่หรือ ทำไมต้องมี DevSecOps เพิ่มขึ้นมา คำตอบของคำถามแรกคือทั้งใช่และไม่ใช่ ส่วนคำถามหลังต้องอธิบายเพิ่มเติม
ในการทำ DevOps ในส่วน Security ที่ควรจะมีอยู่แล้วด้าน Dev ก็คือเรื่องของ Secure Design และ Secure Coding ซึ่งเป็น Practice ที่จำเป็นต้องมีในการ Implementation เช่นการปฏิบัติตาม OWASP Application  Security Verification Standard เป็นต้น อีกด้านคือฝั่ง Ops ที่ควรจะมีโดยพื้นฐานก็เช่นการทำ Hardening หรือ Secure Deployment Process เป็นต้น
แล้ว DevSecOps มาช่วยอะไร
ในการพัฒนา Software นั้นถ้าอ้างอิงตาม Microsoft Security Development Lifecycle (SDL ดู https://www.microsoft.com/en-us/sdl/) การทำ Automation ของ DevSecOps นั้นอยู่ที่ Implementation และ Verification
Microsoft Security Development Lifecycle

ในขั้นตอนหลังจาก Implementation จะต้องมีการทำ Security Practice ก็คือตรวจสอบว่าใช้เครื่องมือในการพัฒนา (Tool Chain) และ Library ที่ได้รับการอนุมัติแล้วหรือเปล่า รวมทั้งการทำ Static Code Analysis  เป็นต้น นี่เป็นขั้นตอนก่อนการ Compile และ Build เพื่อทำ Automate Testing
ขั้นตอน Verification ประกอบด้วยการทำ Dynamic Analysis เช่นทำ Vulnerability Assessment Scanning ทำ Fuzz Testing โดยการลองป้อนข้อมูลที่ไม่อยู่ในรูปแบบที่ถูกต้อง (Malformed Data) เพื่อทดสอบว่าแอพพลิเคชั่นสามารถจัดการกับข้อมูลเหล่านี้ได้โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางด้าน Security ไปจนถึงการทํา Penetration Testing ซึ่งขั้นตอนนี้ควรทำหลังจากทำ Automate Testing เสร็จเรียบร้อยแล้ว และก่อน Deployment
นอกเหนือไปจากการตรวจสอบ Security แล้วยังมีส่วนที่ต้องทำการตรวจสอบเพิ่มเติมก็คือการตรวจสอบเพื่อเป็นไปตามการกำกับดูแล (Compliance) สิ่งต่างๆเหล่านี้รวมทั้งหมดแล้วไม่ได้ถูกเขียนไว้ในกระบวนการการทำ DevOps แบบที่ทำโดยทั่วไป
สำหรับท่านที่สนใจสามารถหาอ่านรายละเอียดได้จากเอกสาร White Paper ตามลิงค์ด้านล่าง
http://www.devseccon.com/wp-content/uploads/2017/07/DevSecOps-whitepaper.pdf

07 มิถุนายน 2560

Software Security Requirement Guideline กับการปล่อยไก่ของผม

เรื่องเล่ายามดึก
ตอนเข้ามาเกียรตินาคินใหม่ๆ ได้เขียน Software Security Requirement Guideline ฉบับหนึ่งเพื่อให้ทาง Development Team และ Vendor ทำตาม โดยอ้างอิงจากเอกสารของ OWASP ฉบับหนึ่ง (ซึ่งเดี๋ยวจะบอกทีหลัง) เป็นหลัก โดยมีการปรับแก้เพิ่มเติมบางอย่างตาม IT Policy ของธนาคาร และ Industrial Standard และ Regulation เช่น PCI-DSS หรือ Best Practice ของธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไป (ซึ่งไม่ได้มากมายเพราะส่วนใหญ่ของ OWASP จะดีกว่าอยู่แล้ว)
หลังจากนั้นเอกสารฉบับนี้ก็มีการรวมร่างกับ Software Architecture Requirement กลายเป็น Software Security and Architecture Guideline ล่าสุดคือ Version 4 และผมก็ไม่ได้เขียนเองแล้ว แต่เป็นคน Review
ตัดกลับมาเมื่อคืนวาน น้องในกลุ่ม OWASP บอกว่าหาคนไปพูดเรื่อง
ASVS ในงาน Thailand Security Day อะไรสักอย่างที่ ETDA วันที่ 26 มิถุนายน ผมก็บอกว่า ASVS คืออะไร ไม่เคยได้ยิน สักพักก็มีการส่ง Link ของเอกสารมาให้ เปิดไปดูก็เห็นเขียนว่า OWASP Application Security Verification Standard 3.0.1 (July 2016) เราก็อืม มันเป็นตัวย่อนี่เอง นั่งอ่านไปสักพักก็รู้สึกว่าคุ้นๆ แฮะ นึกไปนึกมาก็จำได้ว่าเราเคยใช้รายการในเอกสารฉบับนี้เขียน Software Security Guideline ของธนาคาร กลับไปเช็คดู เฮ้ย เราใช้ Version 2.0 เป็นต้นฉบับนี่นา
ด้วยอารมณ์ที่คิดว่าต้อง Update รายการให้ทันสมัยเลยส่ง Link ไปให้น้องในทีมที่ดูแลเอกสารต่อ บอกว่าเราต้อง Update ให้กับเอกสาร Software Security and Architecture Guideline แล้วล่ะ
วันนี้น้องในทีมมาบอกว่า พี่ ผมใช้เอกสารของ OWASP ฉบับนี้มาแก้เอกสารของเราในเวอร์ชันปัจจุบันแล้วนะ พี่เป็นคนรีวิวเองด้วย
ไก่วิ่งเต็มที่ทำงาน จับแทบไม่ทัน