13 พฤษภาคม 2561

ครบรอบ 1 ปี WannaCry ความตระหนักที่กำลังเลือนหายไปตามกาลเวลา

13 พฤษภาคม 2017 เป็นวันที่เกิดการระบาดของ WannCry Ransomware แม้ว่าบางรายงานบอกว่าเป็นวันที่ 12 แต่เนื่องจากประเทศไทยตื่นมารับรู้ในวันที่ 13 เพราะ Time Zone ที่เร็วกว่ายุโรปที่ได้รับรายงานการระบาดเป็นจุดแรก ผมขอใช้วันนี้ก็แล้วกัน

อันที่จริงมัลแวร์ลูกผสมไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจนักสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้าน Information Security จำได้ว่าตอนที่เดินทางขึ้นไปขอนแก่นเพื่อร่วมงานแต่งงานของเจ้าของบริษัททำ Penetration Testing ท่านหนึ่ง บรรดาผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่นั่งรถไปคันเดียวกับผมก็ได้วิเคราะห์เรื่องมัลแวร์ต่างๆ และหนึ่งในการทำนายถึงมัลแวร์ที่จะเกิดขึ้นก็คือลูกผสมของ Ransomware กับ Worm เพียงแค่ปีเดียวสิ่งที่ทำนายก็เกิดขึ้น

สำหรับผม มันเป็นความทรงจำที่ออกจะแปลกประหลาดไม่น้อย เพราะเป็นช่วงที่บินไปยังบาหลีเพื่อร่วมสัมมนา Cyber Security Exchange for FSI ซึ่งผมบินไปก่อน 2 วัน (วันเสาร์) เพื่อพักผ่อน ปกติแล้วผมจะอ่าน News Feed ทุกเช้าและเริ่มสัมผัสได้ว่าการระบาดของ WannaCry น่าจะสาหัส จึงได้ส่งข้อความลงไปใน Line กลุ่มของหัวหน้าทีม IT ของธนาคารก่อนขึ้นเครื่องบิน พร้อมบอกวิธีเตรียมการคร่าวๆ เพื่อรับมือวันจันทร์ที่เปิดงาน จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ตอนนั้น พอลงเครื่องมาก็เริ่มมีการคุยกันต่อเนื่องใน Line ตั้งแต่ยังไม่ออกจาก ตม. จนนั่งรถไปถึงโรงแรม ขอเล่าเพื่อไม่เสียเวลาสรุปว่าทีม Infrastructure และ IT Service เตรียมการทุกอย่างพร้อมในวันอาทิตย์ เพื่อรอการเปิดทำงานวันจันทร์ เป็นการคุยงานไป เดินชายหาดไป ว่ายน้ำไป ประมาณนี้

นอกจากงานของธนาคารตัวเองแล้ว ก็ยังต้องมาช่วยเกลาและเรียบเรียงเอกสารเผยแพร่ในนาม Information Sharing Group (ISG ซึ่งต่อมาเป็น TB-CERT) ร่วมกับเพื่อนๆ ตัวแทนของธนาคารต่างๆ ด้วย และน่าจะเป็นเอกสารเผยแพร่ฉบับแรกๆ ของทีม

เป็นการพักผ่อนที่ประหลาดดี

ผมขอรวบรวมเรื่องที่ประสบพบเจอในระหว่างการระบาดทั้งบทเรียนที่ผมได้รับ ทั้งเรื่องดีและไม่ดี รวมๆ กันไปนะครับ
  1. ระหว่างช่วงชุลมุนและยังได้ข้อมูลไม่ครบ แต่จำเป็นต้องสั่งการ ผมเองเลือกที่สั่งเกินความจำเป็นไปนิด ในกรณีนี้ตอนที่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าโจมตีผ่านช่องโหว่ Ethernal Blue เท่านั้น (SMBv1) ด้วยความที่เป็น Ransomware ผมเลยสั่งให้ Monitor ช่องทาง Mail และ Web Site ไปด้วย อย่างไรก็ตามหลังจากมานั่งคิดว่าถ้าย้อนกลับไปสั่งการใหม่ จะเป็นแบบเดิมไหม คำตอบก็ยังเป็นแบบเดิมอยู่ดี 
  2. หน่วยงาน Regulator ติดตามอย่างกับโดน Compromised ไปแล้ว เอิ่มสถานการณ์ Malware Outbreak จัดการคนละแบบกับการโดน Targeted Attacks นะขอรับ
  3. บรรดากูรูเกิดขึ้นมาอย่างกับดอกเห็ด มั่วซะเป็นส่วนใหญ่ แถมตอน Spectre/Meltdown ก็ด้วย มีอะไรเกิดอีก ก็เดาได้เลยว่ามีกูรูเกิดขึ้นมาใหม่อย่างแน่นอน มีบางคนมาบอกผมว่ากูรูบางคนพูดออกทีวีอย่างดิบดีว่าทำอย่างนี้ป้องกันได้แน่นอน แต่ว่าเอกสาร WannaCry Analysis ในมือผมบอกว่า ทำอย่างที่กูรูบอกไม่มีประโยชน์อันใด ขอร้องกูรูอ่านเยอะๆ ดีกว่านะครับ
  4. หน่วยงานรัฐออก Infographics ไม่ได้ฟังคำท้วงติงของผู้เชี่ยวชาญด้าน Information Security ที่มีข้อมูลอ้างอิงในมือว่าควรสื่อสารอย่างไร ผมก็ไม่แน่ใจว่าการสอบทานเป็นอย่างไร หวังว่าคงไม่ฟังคนที่ไม่มีข้อมูลที่แท้จริงในมือแล้วสื่อสารออกไปผิดๆ หรือตอนนั้นเพียงคิดว่านี่เป็น Ransomware ตัวหนึ่ง
  5. อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโปรแกรมเพื่อหลอก WannaCry ว่าเครื่องฉันติดแกแล้ว ไม่ต้อง Load ตัวเองขึ้นมาอีก มีการออกข่าวใหญ่โต สุดท้ายได้ประกาศเป็นผู้ทำงานด้าน Security ยอดเยี่ยมประจำปีที่แล้ว ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญ Information Security ทั่วโลกบอกว่า ลง Patch เถอะครับ ย้อนแย้งจริงๆ

WannaCry คงจะถูกพูดถึงน้อยลง เลือนหายไปตามกาลและเวลา สิ่งที่น่าคิดคือจากเรื่องนี้เราได้เก็บเกี่ยวประสพการณ์ในการเตรียมรับมือภัยคุกคามแบบอื่นๆ ในอนาคตอย่างมีสติมากน้อยเพียงใด

ไว้นึกอะไรออกอีก จะมาใส่ไว้ก็แล้วกัน

1 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

    ตอบลบ