20 ตุลาคม 2560

National Digital Identity: Chapter 1 ผมมาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ได้อย่างไร

โครงการ Digital Identity ของประเทศไทย

บทความที่เขียนเกี่ยวกับ Digital Identity ที่จะเขียนต่อไปนี้ ไม่ได้เป็นข้อมูลที่เป็นทางการของโครงการแม้ว่าผมจะเป็นหนึ่งในทีมงานด้านเทคนิคก็ตาม แต่จะเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมที่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้มาเป็นระยะเวลานานส่วนการดำเนินงานของโครงการ เป็นไปในทิศทางใดอาจจะไม่ได้เหมือนอย่างที่ผมได้พูดถึงก็ได้

ขอย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยผมทำงานให้กับบริษัท IT ชั้นนำแห่งหนึ่ง ผมได้มีโอกาสไปงาน CeBIT ในเดือนมีนาคมปี 2010 ได้งานนั้นสิ่งที่ผมสนใจมากอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของ e-ID ของประเทศเยอรมันและของประเทศอื่นๆในกลุ่มยุโรป เทคโนโลยีในตอนนั้นพึ่งพาเรื่องบัตรประชาชนที่เป็นสมาร์ทการ์ดเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นอยู่ในรูปบัตรหรือเป็น USB Token เพื่อใช้ในการธุรกรรมต่างๆ ไม่แค่เพียงของรัฐ แต่ยังโยงไปถึงธุรกรรมเกี่ยวกับ ธนาคาร การเงินฯลฯ ในตอนนั้นก็กลับมาย้อนนึกว่าทำไมเราถึงไม่สามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนของเราซึ่งเป็นสมาร์ทการ์ดเช่นกันทำธุรกรรมแบบนั้นได้ แต่เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงก็ได้แต่คิดและเก็บเอาเรื่องนี้ไว้ในใจ

จนมาถึงเดือนกันยายนปี 2015 ได้ไปเที่ยวที่อัมพวากับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Security กลุ่มใหญ่ ขากลับได้ติดรถของผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่ง ได้คุยกันระหว่างทางกลับมากรุงเทพหลายเรื่อง หนึ่งในเรื่องนั้นก็มีเรื่อง e-ID ของเยอรมัน แล้วก็พูดถึงความตั้งใจที่ อยากให้เมืองไทยใช้ Digital Identity ผ่านบัตรประชาชนได้ แต่ตอนนั้นผมยังมองเรื่อง Digital Identity ค่อนข้างแคบไปหน่อย ต่อมาผู้เชี่ยวชาญท่านนั้นก็ได้ทำโครงการเรื่องนี้ Digital Identity ให้กับหน่วยงานหนึ่ง

หลังจากนั้นกระแสเรื่องของการพิสูจน์ตัวตนผ่านทางอุปกรณ์ Mobile เช่น Smartphone ก็เริ่มมาถึงวงการธนาคารในกระบวนการเช่นการทำ E-KYC (Know Your Customer) การพิสูจน์ตัวตนลูกค้า E-Consent การให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกลายเป็นว่าความต้องการหลักเป็นเรื่องเดียวกันก็คือทำอย่างไรถึงจะพิสูจน์ทราบได้ว่าผู้ที่จะมาทำธุรกรรมนั้นเป็นบุคคลตามที่กล่าวอ้างจริงๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือแค่เฉพาะในวงการธนาคารก็มีแนวคิดที่จะทำเรื่อง Digital Identity ออกไปหลายหลายรูปแบบ แต่ไม่ว่ารูปแบบไหนก็ต้องกลับมาเกี่ยวข้องกับผมซึ่งทำงานในสายงาน Information Security อยู่ดี ในรายการที่ผมต้องไปเกี่ยวข้อง หลายเรื่องนั้นก็มีวิธีการออกแบบที่ไม่ดีเลย

หมายความว่าอย่างไร ปกติในการออกแบบกระบวนการหรือวิธีการที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง information Security เหล่านี้ผมมักจะสร้างแบบจำลองสถานการณ์ที่สามารถละเมิดกระบวนการเหล่านี้แล้วทดสอบว่ามีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ (Misuse Case Scenario) ผมพบว่าคนที่พยายามออกแบบกระบวนการเหล่านั้นไม่เคยทดสอบสมมติฐานในรูปแบบการละเมิดขั้นตอนว่าเป็นไปได้หรือไม่ ทำให้ผมต้องพยายามสื่อสารออกไปให้ได้ว่าการออกแบบเหล่านั้นไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อผมเท่าไหร่

โชคดีที่ผมได้ทำงานกับเพื่อนคนหนึ่งซึ่งจบปริญญาเอกทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เข้าใจเรื่องต่างๆในวงการธนาคารเป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาโครงการระดับชาติหลายโครงการ ผมจึงเดินเข้าไปบอกว่า โครงการที่เกี่ยวข้องกับ Digital Identity ที่ทำกันอยู่ไม่มีความปลอดภัย และใช้สถาปัตยกรรมด้านไอทีที่ล้าหลังมากซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาว ซึ่งหลังจากอธิบายรายละเอียดต่างๆให้ฟังแล้วเพื่อนผมคนนี้ก็เลยคิดว่าน่าจะรวมโครงการต่างๆนั้นมาเป็นโครงการเดียว และพยายามแยกระหว่างโครงสร้างพื้นฐานของระบบ ออกจากเทคโนโลยีที่จะใช้เพื่อทำการพิสูจน์ตัวตน หลังจากนั้นก็พยายามคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเริ่มต้นรวมโครงการเหล่านี้ร่วมกัน

ทำให้ผมได้มาร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญท่านนั้น ที่ผมได้ติดรถกลับบ้านในเดือนกันยายนปี 2015

จบปฐมบทเรื่อง Digital Identity ของผม

หมายเหตุ: ผมเชื่อว่าคงจะมีคนเขียนบทความที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ในมุมมองของตัวเองออกมาอีกลองอ่านจากหลายมุมมองแล้วปะติดปะต่อกันคงจะเห็นภาพว่าโครงการนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรแล้วแต่ละคนมาทำงานร่วมกันได้อย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น